CHAYO พร้อมเทรด mai ปลดล็อคเงินทุน ขยายพอร์ตบริหารหนี้

16 February 2018

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO
ว่าที่หุ้นไอพีโอน้องใหม่ “CHAYO” ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจบริหารหนี้ พร้อมเทรด MAI ต้นปีนี้ เสนอขาย 140 ล้านหุ้น ระดมทุนซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่ม

ว่าที่หุ้นไอพีโอน้องใหม่ “CHAYO” ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจบริหารหนี้ พร้อมเทรด MAI ต้นปีนี้ เสนอขาย 140 ล้านหุ้น ระดมทุนซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่ม

จ่อคิวเข้าเทรดตลาด MAI ต้อนรับศักราชใหม่ตั้งแต่ต้นปี สำหรับ ว่าที่หุ้นไอพีโอน้องใหม่ อย่าง “CHAYO” หรือ บมจ.ชโย กรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารสินทรัพย์และติดตามหนี้ ที่เพิ่งแถลงความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI หลังจาก ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้บล.เออีซี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในครั้งนี้ ด้าน “สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป เผยแผนการเข้าระดมทุน เสนอขายหุ้นไอพีโอในตลาด MAI จำนวน 140 ล้านหุ้น คาดเข้าจดทะเบียนได้ภายในปลายไตรมาส 1 หรือภายในไตรมาส 2/2561 นี้ แต่ก่อนอื่นเลย มาทำความรู้จักกับ “CHAYO” กันก่อนดีกว่า......

*** รู้จัก หุ้น IPO น้องใหม่ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO)

บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ประกอบด้วย บริษัท บริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด (CHAYO AMC) และบริษัท ชโย คอลเซ็นเตอร์ จำกัด (CHAYO CALL CENTER) ดำเนินธุรกิจ 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  1. ธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เริ่มดำเนินธุรกิจในปีพ.ศ. 2557 ภายใต้บริษัท CHAYO ASSET MANAGEMENT ประกอบธุรกิจลงทุนซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน ทั้งที่มีและไม่มีหลักประกันมาบริหาร ด้วยขั้นตอนต่างๆ เช่น การเจรจา ประนอมหนี้ หรืองานคดี รวมถึงการสืบทรัพย์และการขายทอดตลาดหลักประกัน โดยเน้นการดำเนินงานที่คำนึง และยึดถึงการรักษาภาพลักษณ์ของผู้ขายสินทรัพย์เป็นสำคัญ
  2. ธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี ดำเนินงานภายใต้ “บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ให้บริการรับติดตามทวงถามหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้คงค้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างต้องการให้ติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ส่วนบุคคล รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภค หนี้ค่าบริการ และหนี้โทรศัพท์ บริษัทฯ ยึดการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 และกฎหมายอื่นอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่นรักษาภาพลักษณ์ของผู้ว่าจ้างเป็นสำคัญ
  3. ธุรกิจศูนย์ให้บริการข้อมูลลูกค้า (CALL CENTER) เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2559 ภายใต้บริษัท CHAYO CALL CENTER โดยให้บริการระบบข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ผ่านทางโทรศัพท์ตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่การนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ว่าจ้าง รวมถึงการทำตลาดทางโทรศัพท์ (TELEMARKETING) แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    • การติดต่อลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ หรือที่เรียกว่า OUTBOUND
    • การทำหน้าที่รับสายโทรศัพท์ ซึ่งติดต่อกับผู้ว่าจ้าง เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของผู้ว่าจ้าง หรือที่เรียกว่า INBOUND

*** ภาวะการแข่งขันในตลาด

ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมของธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอยู่ในระดับกลางถึงต่ำ และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น CHAYO จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านเงินลงทุน เพื่อประมูลหนี้กองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้งแบบที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ส่วนธุรกิจให้บริการติดตามและทวงถามหนี้นั้น สถาบันการเงิน หรือบริษัทในเครือของสถาบันการเงิน ยังมีความต้องการบริษัท หรือ OUTSOURCE ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการติดตามทวงถามหนี้อีกจำนวนมาก เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องบุคคลากรการทำงานในด้านนี้ไม่เพียงพอ ประกอบกับการติดตามและทวงถามหนี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ชำนาญโดยเฉพาะ อาจทำให้มีต้นทุนที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนหรือติดตามเอง ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ในตลาดมีอยู่น้อยราย นับเป็นโอกาสดีที่บริษัทฯ มุ่งมั่นขยายธุรกิจ เดินหน้าตามแผนงานเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ภายในปี 2561 นี้ โดยมี บล.เออีซี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเสริมศักยภาพบริษัทฯ ให้แข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในหุ้น GROWTH STOCK ที่โดดเด่นอย่างยั่งยืนในระยะยาว

*** แผนการเข้าระดมทุนใน MAI

บริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปจำนวน 105 ล้านหุ้น, ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 21 ล้านหุ้น, ผู้บริหาร (ที่ไม่ใช่กรรมการ) และพนักงานของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 7 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท จำนวนไม่เกิน 7 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ

โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้งที่มีและไม่มีหลักประกันเข้าพอร์ตเพิ่ม โดยบริษัทฯ จะเน้นซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต อีกทั้ง การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการดำเนินธุรกิจ อีกทั้ง ยังเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือของการเป็นบริษัทฯ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารสินทรัพย์ และติดตามทวงถามหนี้ ต่อสถาบันการเงินและกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทำให้สามารถสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคต

*** ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2557- 2559) บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 53.90 ล้านบาท, 141.23 ล้านบาท และ 197.14 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 162.01 ในปี 2558 และร้อยละ 39.58 ในปี 2559 ล่าสุดงวด 9 เดือน ปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 155.35 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุมาจากการให้บริการติดตาม เร่งรัดหนี้สินที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึง ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า ซึ่งเริ่มดำเนินงานหลังจากไตรมาส 3/2559 เป็นต้นมา สำหรับสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ ในงวดดังกล่าว มาจากธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพร้อยละ 78.43, ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ร้อยละ 17.59, ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าร้อยละ 3.74 ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ

ขณะที่กำไรสุทธิย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2557-2559 อยู่ที่ 18.81 ล้านบาท, 68.94 ล้านบาท, 70.89 ล้านบาท และล่าสุดกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในงวด 9 เดือน ปี 2560 อยู่ที่ 45.27 ล้านบาท ตามลำดับ และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 61.81, ร้อยละ 72.90 และร้อยละ 68.75 ตามลำดับ ส่วนงวด 9 เดือน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 65.58

*** แนวโน้มการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2561

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2561 บริษัทฯ คาดว่าจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการลงทุนประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้างบลงทุนสำหรับปี 2561 ไว้ที่ 600 ล้านบาท เพื่อเข้าประมูลซื้อหนี้เพิ่มเติม เบื้องต้น คาดว่าจะได้หนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท จากเมื่อ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีพอร์ตบริหารหนี้สะสมอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านบาท