ชโย กรุ๊ป อวดกำไรโต 47% พร้อมได้ใบอนุญาตลุยปล่อยสินเชื่อ กางแผนปี 62 ลุยซื้อหนี้เพิ่ม - ปล่อยสินเชื่อเสริมทัพ

27 September 2019

ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO อวดผลงานปี 2561 มีกำไร 85.43 ล้านบาท เติบโต 47% ทะลุเป้าที่วางไว้ กำไรโตเกิน 10% จากปีก่อน รายได้รวมอยู่ที่ 255.65 ล้านบาท ด้านพอร์ตสินเชื่อสิ้นสุดปี 2561 อยู่ที่ 38,349 ล้านบาท พร้อมล่าสุดได้ใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อ Nano และ Personal loan เตรียมลุยปล่อยสินเชื่อในปลายไตรมาส 1 นี้ “สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ซีอีโอ มองแนวโน้มปี 2562 รายได้เติบโตอย่างตัวต่อเนื่องขั้นต่ำโต 15% หลังประกาศเน้นกลยุทธ์เชิงรุกในทุกธุรกิจ เตรียมเงินลุยซื้อหนี้เข้าพอร์ตมาบริหารเพิ่ม พร้อมเดินหน้าธุรกิจปล่อยสินเชื่อเต็มสูบ

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (ทั้งมีหลักประกันแลไม่มีหลักประกัน) ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สินและกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่าผลประกอบการของบริษัทในงวดปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 255.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.67 ล้านบาท หรือ 24.11 % และกำไรสุทธิอยู่ที่ 85.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.69% (ทะลุเป้าหมายที่วางไว้กำไรโตเกิน 10% จากปีก่อน) และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 64.13% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 33.42%

“สาเหตุที่ทำให้รายได้รวมและกำไรสุทธิในปี 2561ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจบริหารสินทรัพย์หรือซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหาร โดยเฉพาะหนี้ที่มีหลักประกันที่ได้ซื้อในปี 2560 และ 2561 ได้เริ่มมีการทยอยขายออกไปเพื่อสร้างรายได้ให้บริษัท ประกอบกับยอดจัดเก็บของหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นและการตัดต้นทุนที่น้อยลง ส่งผลให้บริษัทมีรายได้และกำไรสุทธิ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถซื้อหนี้ได้ตามเป้าหมาย โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2561 บริษัทฯ ได้ดำเนินการซื้อหนี้แล้ว 374.96 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 38,349 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 35,181 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 3,168 ล้านบาท” นายสุขสันต์ กล่าว

นายสุขสันต์ กล่าวถึงแผนธุรกิจในปี 2562 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% โดยประเมินว่าตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปี 2561 ประกอบการประกาศใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่หรือ TFRS 9 อาจส่งผลให้กลุ่มสถาบันการเงินต้องเร่งขายหนี้เสียหรือ NPL ออกมามากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทที่จะได้เข้าไปลงทุนซื้อหนี้ NPL เข้ามาบริหาร โดยในปี 2562 บริษัทฯ เน้นกลยุทธ์เชิงรุกในทุกธุรกิจ และยังคงเน้นการลงทุนในธุรกิจหลักในการซื้อหนี้มาบริหารเป็นหลักเช่นเดิม ประกอบกับการรุกธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตมาเป็นหลัก

โดยบริษัทตั้งเป้าซื้อหนี้เข้ามาบริหารประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 70%-80% ไม่มีหลักประกัน 20%-30% ส่วนงบลงทุนวางไว้ที่ประมาณ 1,000 – 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นซื้อหนี้เข้ามาบริหารประมาณ 1,000 – 1,250 ล้านบาท และอีกประมาณ 200-250 ล้านบาท ใช้สำหรับธุรกิจปล่อยกู้ โดยแหล่งเงินลงทุนมาจากการออกหุ้นกู้วงเงินเพิ่มทุน General Mandate –PP จำนวน 56 ล้านหุ้นและกระแสเงินสดของบริษัท

นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ จะมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยธุรกิจสินเชื่อบุคคล (ได้รับใบอนุญาตแล้ว) สินเชื่อนาโน (ได้รับใบอนุญาตแล้ว) ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย “ชโย แคปปิคอล” ส่วนพิโก ไฟแนนซ์ (รอผลการอนุมัติ) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้บริษัทย่อย “ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส”

“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจปล่อยสินเชื่อคือพนักงานประจำ ทั้งบริษัทเอกชนและรัฐบาล ลูกจ้างประจำ หรือลูกค้าเดิมที่มีธุรกรรมกับบริษัทฯ เนื่องจากมองเห็นความต้องการและศักยภาพของลูกค้า ขณะที่จุดแข็งของบริษัทฯ คือความชำนาญในการเก็บและปล่อยสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ จะได้รับการตอบรับที่ดี โดยเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทจะผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นายสุขสันต์ กล่าว